SMART NEWS

ฮ่องกงคุยกับไทยเรื่องช่วยคนฮ่องกงถูกล่อลวง 15 ม.ค. 68 16:01 น.

กิจกรรม

บจธ. ชู ความสำเร็จวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ ต้นแบบโมเดลบริหารจัดการที่ดินครบวงจร

views

     สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. เผยการให้ความช่วยเหลือจัดหาที่ดินทำกินกับเกษตรกรผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และต้องการหาที่ดินประกอบอาชีพเกษตร เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ 65 ครัวเรือน เกินเป้าหมาย ภายใต้โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร

     นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การลงพื้นที่พบกลุ่มสมาชิกเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ของคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินและผู้บริหาร บจธ. นำโดย ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา ประธานกรรมการบริหาร บจธ. ในพื้นที่เป้าหมายชองชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 7 บ้านใหม่กือนา ตำบลริมกก อ. เมือง จังหวัดเชียงราย ห่างจากสนามบินแม่ฟ้าหลวง ประมาณ 7 กม. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรผู้ยากจนและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ภายใต้โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ของ บจธ. ในรูปแบบของโฉนดชุมชนหรือโฉนดรวม โดยจะมีการจัดสรรแบ่งแปลงตามความต้องการให้ทำกินร่วมกันรวมเนื้อที่ประมาณ 69 ไร่

     ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์” นี้เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกบางส่วนของสหกรณ์เคหะสถานล้านนาเชียงราย จำนวน 65 ครัวเรือน โดยมี นายจรัส บำรุงแคว้น เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ สมาชิกสามารถ สร้างความเข้มแข็งในการออมเงินกันเองภายในกลุ่ม จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้น และเคยได้รับความช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัย โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งปัจจุบันยังขาดที่ดินทำกิน และได้นำเสนอโครงการเข้ามายัง บจธ. เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2562 เพื่อขอรับการสนับสนุนความช่วยเหลือ ต้องการมีที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้านเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน สมาชิกมีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกพืชผักปลอดสารหรือพืชผักเกษตรอินทรีย์ อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลิ ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย ผักกุ๋ยฉ่าย ถั่วฟักยาว ผักบุ้ง เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงปลา เป็นต้น และยังแบ่งพื้นที่ส่วนกลางของกลุ่มไว้ประมาณ 5 ไร่ สำหรับใช้เป็นพื้นที่เป็นที่ทำการของวิสาหกิจฯ ถนน และสาธารณูปโภค โดยสมาชิกเกษตรกรจะทยอยผ่อนชำระกับ บจธ. ในระยะเวลา 30 ปี

     “โครงการที่บ้านเวียงกือนา ตำบลริมกก แห่งนี้ มีความก้าวหน้าไปกว่า 90% แล้ว เป็นไปตามเป้าหมายการช่วยเหลือให้เกษตรกรและผู้ยากจนที่เป็นผู้ไม่มีที่ดิน ได้สามารถถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม สัมฤทธิ์ผลความสำเร็จเป็นโครงการแรกของโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรของ บจธ. ที่ขณะนี้เหลืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” นายกุลพัชรกล่าว

     ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น นอกจากสามารถช่วยเหลือเกษตรกรยากจนและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองตามภาระกิจและวัตถุประสงค์ของ บจธ. ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเหมาะสมแล้ว สัมฤทธิ์ผลในด้านการเกิดเป็น “นวัตกรรมใหม่” ในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน (Innovation Land Management) ภายใต้โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินครบวงจรอีกด้วย คือ สามารถใช้หลักเกณฑ์แบบใหม่ทางการเงิน ที่สามารถนำทรัพย์สินที่ดินของคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ หรือทำประโยชน์ไม่เต็มที่ มาให้เกษตรกรสามารถถือครองที่ดินและเป็นของตนเองได้ในระยะยาว และสามารถบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อสร้าง ความเข้มแข็ง ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ ตามแนวทางพระราชดำริ เศรษฐกิจแบบพอเพียง เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้

      โมเดลโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรนี้ เป็น 1 ใน 4 ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บจธ. ดำเนินการ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ดินที่ได้รับอย่างเหมาะสม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการทำเกษตรกรรมของเกษตรกร โดยมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เริ่มต้นที่เกษตรกรจะต้องมี การรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีรายชื่อและ จำนวนสมาชิกที่ชัดเจน โดยจะต้องมีเป้าหมายหลักในการกระจายการถือครองที่ดิน ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน กล่าวคือ จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ในการจะใช้ประโยชน์และจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทาง บจธ. จะมีหน้าที่คอยให้ความ ช่วยเหลือดูแล ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยในเบื้องต้น บจธ. จะเป็นผู้ลงสำรวจพื้นที่ ตรวจสอบ ความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน สำหรับเป็นที่ทำกิน ดูความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในการผลิตต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วผ่าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ เพื่อจัดซื้อที่ดินต่อไป ที่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560.

TW-headbar