กิจกรรม
โชว์ “คุ้งบางกะเจ้า” แหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากล อพท. - สกสว. ร่วมภาคี ยกระดับกิจกรรมสีเขียว 6 เส้นทาง ต้นแบบ BCG
อพท.- สกสว. ประสานภาคีเครือข่ายและชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ประกาศความสำเร็จโครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล ชูศักยภาพ 6 เส้นทางท่องเที่ยวจากงานวิจัยเชิงลึก พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวสีเขียว ต้นแบบ BCG Model ขยายผลสู่การบริหารจัดการและคัดแยกขยะในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ หวังปักหมุดขึ้นชั้น Green Destination Top 100 และการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษในอนาคต
นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนในพื้นที่ ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก สกสว. ในโครงการดังกล่าว อพท. และ สกสว. ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนา ยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากระดับชุมชนสู่การออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวม 6 เส้นทาง ใน 6 ตำบล ด้วยการสร้างจุดเด่น ดึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนมาต่อยอดเป็นจุดขายสู่การเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวคุณภาพสูง
ทั้งนี้ อพท.ได้นำมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand มาใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการออกแบบเส้นทาง การออกแบบผลิตภัณฑ์และการทำตลาดการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ มีเป้าหมายสูงสุดคือยกระดับให้คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เชิงวิถีชีวิตและเชิงนิเวศ ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และพร้อมผลักดันให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ในลำดับต่อไป รวมถึงการผลักดันให้เข้าสู่การได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 ที่มีระบบการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนโยบายของรัฐบาลภายใต้ BCG โมเดล
“นอกจากพัฒนายกระดับในส่วนของกิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ในงานวิจัยนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ เพราะการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะเช่นกัน ดังนั้นจึงมีการศึกษาและอบรมให้ชุมชนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคัดแยกขยะ และการรีไซเคิล เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้สอดรับกับหลักการ Circular Economy”
***ชู 6 เส้นทาง อัตลักษณ์วิถีชุมชน***
ทั้งนี้ 6 เส้นทาง ที่ได้รับการพัฒนา ได้แก่ 1.เส้นทางสาย Cool ไปกับพื้นที่สีเขียวเที่ยวคุ้งบางกระเจ้า 2.เส้นทางสายชิมลิ้มรสหลากหลาย สไตล์คุ้งบางกระเจ้า 3.เส้นทางสายธรรมะศรัทธาที่คุ้งบางกระเจ้า 4.เส้นทางสาย Learn&Play สัมผัสเสน่ห์คุ้งบางกระเจ้า 5.เส้นทางสายสุขภาพดีที่คุ้งบางกระเจ้า 6. เส้นทางสายตามรอยศาสตร์พระราชาแห่งคุ้งบางกระเจ้า นอกจากนั้นยังได้กำหนดเทศกาลที่คงอัตลักษณ์และวิถีของชุมชนบางกระเจ้าใน 2 เทศกาล ประจำปี ได้แก่ เทศกาลพิธีแห่หงส์-ธงตะขาบ และ พิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี
เส้นทางท่องเที่ยวทั้งหมด ได้ผ่านการวิจัยในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยการสำรวจกลุ่มนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวน 400 คน ที่มีการศึกษาพฤติกรรม และความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ ทำให้เข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมากขึ้น ว่าต้องการสัมผัสประสบการณ์ทางการท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่นและลงมือทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จึงให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของมรดกภูมิปัญญา วัฒนธรรมพื้นที่ มาสู่การผลิตคู่มือสื่อความหมายสำหรับพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดแผนพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของพหุภาคี และยังมีการนำนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร มีการยกระดับอาหารท้องถิ่นสู่การให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างจุดขายและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
“ความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และการนำเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ของ อพท. เข้าไปพัฒนา อบรม ให้แก่ชุมชน ทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าได้รับรางวัลและมาตรฐานต่างๆ เช่น รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (กินรี) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รางวัล MICE เพื่อชุมชน ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สามารถสร้างการยอมรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบการท่องเที่ยวมีทั้ง One Day Trip และการท่องเที่ยวแบบพักแรมในโฮมสเตย์ของชุมชน ”นาวาอากาศเอก อธิคุณกล่าว
***พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตอบ BCG Model ***
อย่างไรก็ตามภายหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังเข้าสู่ไฮซีซั่นในช่วงปลายปี อพท. มั่นใจว่าพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าจะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญ ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวทั้งจากกรุงเทพ และจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากความหลากหลายของเส้นทางการท่องเที่ยวที่พร้อมให้บริการ โดยปัจจุบัน อพท. ได้ร่วมกับชุมชนเตรียมความพร้อมการให้บริการ ให้มีความสามารถในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวของพื้นที่ (Carrying Capacity) เพื่อการดูแล และให้บริการอย่างมีคุณภาพ บนฐานของความสมดุล ในการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความยั่งยืน โดยการนำวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมเข้ามาส่งเสริม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจชุมชน ในรูปแบบการเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
***พัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ***
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสผู้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. ในฐานะเป็นหน่วยงานการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ อพท. ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล ถือเป็น 1 ใน 6 ของการพัฒนา OUR Khung Bang Kachao ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนา จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวคุณภาพ และยกระดับสินค้าและบริการให้กับชุมชนและภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าสู่ความยั่งยืน
ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวให้กับ 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบางกระเจ้า ชุมชนบางกระสอบ ชุมชนบางยอ ชุมชนทรงคนอง ชุมชนบางน้ำผึ้ง และชุมชนบางกอบัว ส่งผลให้ปัจจุบันเส้นทางท่องเที่ยวในคุ้งบางกะเจ้าได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายอย่างทั่วถึงเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เกิดการฟื้นฟูอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม และการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่แห่งนี้สามารถเป็นแหล่งผลิตโอโซนที่สำคัญใกล้เมือง ที่ยังคงอุดมความสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป
*** “สมุทรปราการ” พร้อมหนุนแผนพัฒนา***
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จังหวัดสมุทรปราการเห็นความสำคัญของการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า ขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคชุมชน โดยมีภารกิจในการร่วมวางแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การกำกับ ติดตาม และประเมินผลโครงการให้เป็นไปตามหมุดหมายของแผนฯ โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล ซึ่งมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ แผนงานและกลยุทธ์การพัฒนาของจังหวัดสมุทรปราการ และยังทำให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายในจังหวัดได้เรียนรู้การพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยว ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ มีเป้าหมายเดียวกัน โดยจังหวัดยังสามารถนำองค์ความรู้ แนวทางการพัฒนาที่เกิดผลสัมฤทธิ์นี้ ไปขยายผลยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัด ทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดบรรลุวิสัยทัศน์ได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมให้การสนับสนุนและหนุนเสริมงานวิจัยนี้อย่างเต็มที่เต็มกำลังตามบทบาทภารกิจที่มีอยู่
***สัมผัสอัตลักษณ์ชุมชนท่องเที่ยว***
นายสำเนาว์ รัศมิทัศน์ ประธานชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกะเจ้า กล่าวว่า จากการเข้ามาพัฒนาของ อพท. และ สกสว. ที่เริ่มจากการประเมินศักยภาพของชุมชน จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว จึงพบว่าชุมชนในคุ้งบางกะเจ้ามีฐานทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนทั้งในด้านการประกอบอาชีพ ทางการเกษตร และสามารถกำหนดเป็นเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวย้อนยุควิถีคลอง วิถีชีวิต ที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนอื่นๆ ได้อย่างลงตัว
ทั้งนี้ อพท. ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งการพัฒนา นักสื่อความหมาย การพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมประกอบอาหารพื้นถิ่น การจัดจานอาหารในเมนูเมี่ยงกลีบบัวพริกเกลือ ซึ่งจะเป็นไฮไลท์ของชุมชนบางกอบัว รวมถึงกิจกรรมทำผ้ามัดย้อมจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกลูกจาก ใบหูกวาง โดยนำมาต้มเพื่อให้ได้สีธรรมชาติ รวมถึงการจัดกิจกรรมล่องเรือชมวิถีคลอง ที่จะพานักท่องเที่ยวพายเรือ เรียนรู้ธรรมชาติ พันธุ์ไม้หลากหลาย เช่น จาก ลำพูน ลำแพ จึงตอบได้ว่า แนวทางการทำงานของ อพท. สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคนในคุ้งบางกะเจ้าดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป