
นายกรัฐมนตรียืนยันไทย มีมาตรการรองรับ กรณีสหรัฐขึ้นภาษี
3 เมษายน 2568 13:04 น.
ผลวิจัยพบการเล่นมือถือบนที่นอนเสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับ 3 เม.ย. 68 13:04 น.
3 เมษายน 2568 13:04 น.
3 เมษายน 2568 11:04 น.
3 เมษายน 2568 10:04 น.
3 เมษายน 2568 09:04 น.
ผลวิจัยจากการสำรวจพฤติกรรมก่อนนอน พบว่า คนที่เล่นมือถือก่อนนอนมีความเสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับ และหากการนอนไม่มีคุณภาพ หลับไม่ลึก ก็มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์
สถาบันสาธารณสุขแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Institute of Public Health) ได้สอบถามนักศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-28 ปี จำนวนมากกว่า 45,000 คน เกี่ยวกับพฤติกรรมก่อนนอน เพื่อศึกษาว่าระยะเวลาในการเล่นมือถือก่อนนอน ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหรือไม่ และระหว่างการใช้มือถือในที่นอนเพื่อดูสื่อโซเชียล กับ การดูจออื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือเล่นเกมบนมือถือ อย่างไหนจะส่งผลเสียมากกว่ากันต่อคุณภาพการนอน โดยแบบสำรวจพฤติกรรมเน้นถามพฤติกรรมการนอน การจ้องจอดูมือถือ จอทีวี หรือคอมพิวเตอร์ ก่อนนอน รวมทั้งการตื่นนอน และความเหนื่อยล้า
ผลการสำรวจชี้ว่า หากก่อนนอนยิ่งจ้องจอ ส่องแอปมือถือเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ กล่าวคือ ทุก 1 ชั่วโมงที่หมดไป ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนอนไม่หลับเพิ่มขึ้นถึง 63% และทำให้เวลาการนอนหดหายไป 24 นาที ต่อทุก 1 ชั่วโมง โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่า ชอบเล่นมือถือ หรือ ดูทีวี ใช้คอมพิวเตอร์ก่อนนอน อย่างน้อย 3 คืน ต่อสัปดาห์ มักมีปัญหานอนไม่หลับอย่างน้อย 3 เดือน อย่างไรก็ตาม แม้ผลการวิจัยพบว่ามีความเชื่อมโยงกันจริง ระหว่างการจ้องจอบนที่นอนกับการนอนหลับไม่สนิท หรือ นอนไม่หลับ แต่นักวิจัยก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่า การเล่นมือถือ หรือ จ้องจอคอมพิวเตอร์ ดูทีวี จะเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคลินิกการนอนแห่งหนึ่งในอังกฤษ เผยว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ถือเป็นหลักฐานชิ้นเอก ที่ชี้ได้ว่า การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งผลในทางลบต่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
โดยปกติ คนเรามีวงจรการนอนหลับ 2 ช่วง คือ ช่วงการหลับตื้นไปจนถึงหลับลึก (Non Rapid Eye Sleep) และ ช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep : REM Sleep) ซึ่งเป็นช่วงที่การทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ จะหยุดทำงาน ยกเว้นกระบังลม กล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อตา และหัวใจ ซึ่งช่วงวงจรมักจะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืด
ดังนั้น การนอนที่มีคุณภาพสำหรับคนวัยผู้ใหญ่ คือ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และ ควรหลับลึกให้ได้ถึง 20% – 25% ของตลอดช่วงเวลาการนอนตลอดทั้งคืน ขณะที่คนวัยรุ่นและวัยเด็ก ควรนอนไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมง แต่ผลการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า หากคนเรามีช่วงการหลับลึก ในระยะที่ 2 (REM Sleep)น้อย อาจส่งผลร้าย คือ ทำให้สมองบางส่วนถูกทำลาย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์.